วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ประวัติพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน



            ขอเริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติของสถานที่แห่งนี้เพื่อปูทางสู่ความเข้าใจถึงสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าและความงดงามยิ่ง  พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นพระราชวังฤดูร้อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว( รัชกาลที่ ๖ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ณ ตำบลห้วยทรายเหนือ  (ปัจจุบันคือตำบลชะอำ) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สำหรับเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและรักษาพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมที่พระราชนิเวศน์แห่งนี้สองครั้งคือ ระหว่างฤดูร้อนปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เริ่มจากวันที่ ๒๓ เมษายนทรงประทับอยู่นานประมาณ ๓ เดือนและครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ถึง ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมเวลา ๒ เดือนเศษ




                ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์หลวงพระจำพระองค์ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแนะนำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงประชวรด้วยโรค รูมาติซึ่มเสด็จประทับ ณ สถานที่อากาศถ่ายเทสะดวกแถบชายทะเล ซึ่งในขณะนั้นหัวหินเป็นสถานตากอากาศที่ได้รับความนิยมแล้ว ตามบันทึกเรื่องที่ประทับชายทะเลของพระสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียบเรียงโดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) กล่าวถึงพระราชปรารภว่า “ที่นั่นกำลังเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป ไม่อยากเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา” เพราะด้วยประเพณีดั้งเดิมนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จประทับที่ใด บริเวณนั้นจะถูกกำหนดเป็นเขตพระราชฐาน คนทั่วไปจึงถูกกันออกและไม่สามารถเข้าใกล้สถานที่ได้ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กระทรวงทหารเรือ สำรวจหาทำเลที่เหมาะสมที่จะสร้างพระราชวังฤดูร้อน ครั้นเมื่อมีรายงานกราบทูลว่า ที่ดิน ตำบล บางทะลุ อำเภอชะอำ มีหาดทรายสะอาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการสร้างพระราชวังแบบเรียบง่ายขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้วพระราชทานชื่อชายทะเลบริเวณพระราชวังนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ นอกจากจะทรงใช้พระราชวังใหม่เป็นที่ประทับแรมเพื่อพระอนามัยแล้ว ยังใช้สำหรับการทอดพระเนตรการซ้อมของเสือป่า จ.เพชรบุรี จึงทำให้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ” 



        


                พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญในฤดูร้อน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ พอหลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ก็มิทรงโปรดที่จะไปประทับอีก เนื่องจากพื้นที่กันดารและการเดินทางไม่สะดวก การเสด็จพระราชดำเนินครั้งหลัง รถไฟเล็กพระที่นั่งติดขัด จนต้องใช้แรงงานคนผลัดกันลากแทนรถจักรไอน้ำ ข้าราชบริพารผู้เคยถวายงานใกล้ชิดเล่าว่า “ต้องลำเลียงน้ำใส่ตุ่มดิน ผูกผ้าขาวปิดปากโอ่งตีตราประทับบนปมเชือกที่รัดตรงคอโอ่งด้วยดินสอพอง ส่งเข้าไปในพระราชฐานอยู่เป็นประจำ น้ำที่ได้มานี้ทางบ้านเมืองจะต้องส่งเจ้าพนักงานนำเรือไปบรรจุลงโอ่งที่ตอนต้น แม่น้ำเพชร จนเรียกกันติดปากว่า น้ำเพชร ” นอกจากนี้ยังทรงรับความรำคาญจากแมลงวันหัวเขียวชุกชุมมาก เนื่องด้วยหาดเจ้าสำราญอยู่ไม่ห่างนักจากหมู่บ้านชาวประมงบ้านแหลม พระองค์ทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระราชวังฤดูร้องแห่งใหม่ขึ้น ให้มั่นคงถาวรกว่าพระราชวังที่หาดเจ้าสำราญ และกว้างขวางพอสำหรับเหล่าข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทางเมืองเพชรบุรีสำรวจหาสถานที่แห่งใหม่ 





                พบว่าชายหาดที่ ตำบล ห้วยทรายเหนือ อำเภอ ชะอำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างหาดเจ้าสำราญกับหัวหิน มีทำเลเหมาะสม สภาพเป็นป่าท่ามกลางภูเขาหาดทรายขาวสะอาด มีแอ่งน้ำซับใต้ดินอุดมสมบูรณ์ และการเดินทางสะดวกเพราะอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไหห้วยทรายเหนือ จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สถาปนิกชาวอิตตาเลียน สังกัดกรมโยธา ออกแบบพระราชนิเวศน์ฯ ตามแบบที่กล่าวกันว่าทรงร่างด้วนฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และมีพระบรมราชองการให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างโดยมีช่างชาวจีนเป็นแรงงานหลักและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนัก และอาคารที่พักของข้าราชบริพารค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญมาปลูกสร้าง ณ สถานที่แห่งใหม่ด้วยพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเริ่มสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ และพระราชทานนามว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ด้วยมีพระราชประสงค์จะรักษาความหมายของชื่อเดิม “ห้วยทราย” 



                ที่เรียกกันในท้องถิ่นไว้ เนื่องจากป่าในท้องที่ ตำบลห้วยทรายเหนือชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่าประเภทเนื้อทราย กวาง หรือที่ในภาษามคธเรียกว่า “มฤค” ซึ่งมักมาหากินตามลำห้วย ทั้งยังเป็นชื่ออันเป็นสิริมงคล เพราะตรงกับชื่อ “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาตามพุทธประวัติ และด้วยเหตุที่ทรงมีพระราชหฤทัยเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย จึงมีพระบรมราชองการเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ประกาศให้เขตพระราชนิเวศน์ เป็นเขตอภัยทาน ห้ามมิให้ทำอันตรายแก่สัตว์ โดยกำหนดเขต ด้านตะวันออกชายฝั่งทะเล ตั้งแต่วัดบางทรายจรดบ้านบ่อเคียะ ยาว ๑๒๕ เส้น (๕กิโลเมตร) ด้านเหนือจากฝั่งทะเลยื่นเข้าไปจรดเขาเสวยกระปิ ยาว ๑๗๐ เส้น (๗.๖ กิโลเมตร) ด้านใต้ยื่นจากชายทะเลขึ้นไปจรดเขาสามพระยา ยาว ๑๒๕ เส้น (๕กิโลเมตร)



             
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว( รัชกาลที่ ๖ ) มีพระราชประสงค์ที่จะทรงสร้างพระราชนิเวศน์ฯ โดยใช้ทุนทรัพย์โดยน้อยที่สุด และโปรดให้มีลักษณะเรียบง่าย ไม่หรูหราวิจิตรเช่นพระราชวังแห่งอื่นๆ การออกแบบเน้นการโปร่งโล่ง สมกับเป็นที่ประทับตากอากาศที่เข้ากับสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศชายทะเล โดยแบ่งเป็นหมู่พระที่นั่ง ๓ องค์ที่มีอาคารประกอบรวม ๑๖ หลัง เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินหลังคาคลุมเรียงกันตามแนวทิศเหนือ ใต้ หันหน้าเข้าสู่ทะเลเป็นแนวขนาน เพื่อให้เป็นพระที่นั่งได้รับลมทะเลเวลากลางวัน และลมจากภูเขาเวลากลางคืน ส่วนบริเวณโดยรอบโปรดให้คงสภาพป่าในพื้นที่ไว้ตามธรรมชาติไม่ต้องพระราชประสงค์ให้ปลูกดอกไม้ประดับให้สิ้นเปลือง หากแต่ให้คงไว้ซึ่งพรรณไม้พื้นเมือง เช่น ต้นข่อย ต้นแจง และต้นมะนาวผี ฯลฯ






พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ี่ที่ ต.ห้วยทรายเหนือ อำเภอ ชะอำ จังหวัด เพชรบุรี อยู่ในค่ายพระราม 6










บริเวณทางเข้าเมื่อผ่านประตูสำหรับซื้อบัตร ปลูกไม้ประดับสองข้างทางไว้อย่างสวยงาม เขตนี้เป็นเขตพระราชฐานต้องแต่งกายให้สุภาพมิเช่นนั้นต้องเช่ากระโปรง หรือ ผ้าคลุม 20 บาท







บริเวณพระราชวังไม้ห้อมล้อมด้วย ต้นไม้เขียวร่มรื่นทำให้ลดความเหนื่อยในการเดินชมได้บ้าง









                ขอแนะนำผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวังไม้สักทองที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ พี่นิ เป็นผู้ดูแลงานวิชาการฝ่ายห้องสมุด ซึ่งพี่นิเล่าถึงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ในหลายๆแง่ ที่เนื้อหาในอินเตอร์เน็ตไม่สามารถหาเจอทั้งเรื่องราวความเป็นมา ความรัก ความสมหวัง ความเศร้า ของล้นเกล้ารัชกาลที่๖ ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกถึงความรัก ความภักดี ที่แสดงออกมาจากสีหน้า น้ำเสียง ของพี่นิ นอกจากนี้ยังเล่าถึง การวางผังของวังเจ้าองค์ไหนประทับที่เรือนใดเพราะเหตุใด ซึ่งซ่อน ไปด้วยเหตุผล และความสัมพันธ์ ของบุคคลที่ใช้งานเรือนไม้สักทองแห่งนี้และมันยังทำหน้าเก็บเรื่องราวที่งดงามไว้ตลอดไป












ภาพบนนี้เป็นภาพผังรวมของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ข้าพเจ้า ขอเล่าเเรื่องราวตามผังไปเรื่อยแล้วกันนะคะ เริ่มจากทางเข้าภาพด้านซ้าย ภาพด้านขวาเป็น 1 และ 2

๑. ปัจจุบันเป็นอาคารนิทรรศการ แต่เดิมเคยเป็นคอกม้าซึ่งอยู่บริเวณหน้าวัง
๒.ปัจจุบันเป็นร้านค้าขายของที่ระลึกแต่เดิมเคยเป็นคอกม้าซึ่งอยู่บริเวณหน้าวังเหมือนกัน























๓. พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ 
ถ้าแยกชื่อออกก็จะได้เป็น สโมสร + เสวก (ข้าราชบริพาร) + อำมาตย์ (ข้าราชการ) เพราะงั้นความหมายของชื่อนี้ก็ตรงตัวเลยว่า คือที่ประชุมของเหล่าข้าราชบริพารและข้าราชการนั่นเอง

หมู่พระที่นั่งนี้ใช้สำหรับเป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการของรัชกาลที่ 6 รวมทั้งยังใช้เป็นโรงละครอีกด้วย เพราะรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดการละครมาก ไม่ใช่เพียงโปรดทอดพระเนตร แต่ทรงเล่นเองเลยเป็นอาคารสองชั้น มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเปิดโล่ง ซึ่งวันที่ข้าพเจ้าไปนั้นมีการแสดงละครพูดสลับลำเรื่อง วิวาหสุทร ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ ของ ร.6 พระองค์ทรงพระพันธ์ได้ออกรสออกชาติ น  โดยครูเล็กภัทราวดี มีชูทน ซึ่งมีโรงเรียนการละครตรงหัวหินไม่ไกลกันมาก

๔. เรือนผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก

๕. พระที่นั่งสมุทพิมานองค์ใหม่และ ๘. พระที่นั่งสมุทพิมานองค์เดิม  
มีสองหมู่ คือหมู่เดิมด้านในและหมู่ใหม่ด้านหน้า เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาคารหลังใหญ่สุดทรงใช้เป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องทรงพระอักษร และห้องสรง ส่วนห้องเสวยเป็นศาลารูปสีเหลี่ยม มีลูกกรงรอบไม่กั้นฝา ลักษณะคล้ายศาลา เป็นที่ซึ่งโปรดประทับในเวลากลางวัน ปัจจุบันจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมรูปให้คนทั่วไปได้สักการะ ในส่วนพระที่นั่งสมุทรพิมานหมู่เดิมเคยเป็นประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ระหว่างมีพระครรภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

๖. หอเสวยฝ่ายหน้า 

เป็นส่วนรับประทานอาหารแบบยุโรปคือนั่งเก้าอี้ ซึ่งร.6จะเสด็จในมื้ออาหารเย็นด้วยชุดเต็มยศแบบยุโรป

๗. ศาลาลงสรงฝ่ายหน้า สำหรับผู้ชาย ซึ่งขณะที่ข้าพเจ้าไปนั้นกำลังบูรณะ


๙. เรือนมหาดเล็ก

๑๐. ท้องพระโรงฝ่ายใน 

๑๑. ศาลาลงสรงฝ่ายใน สำหรับผู้หญิง ซึ่งขณะที่ข้าพเจ้าไปนั้นกำลังบูรณะ

๑๒. หอเสวยฝ่ายใน

๑๓. ห้องคุณท้าววรคณานันท์

๑๔. พระที่นั่งพิศาลสาคร 

เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และที่พำนักของ พระสุจริตสุดา พระสนมเอก นอกจากพระที่นั่งแล้วยังมีเรือนเล็กๆ เป็นกลุ่มอาคารสำหรับฝ่ายใน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีบันไดขึ้นลงชายหาดและพลับพลาริมทะเลซึ่งทอดขนานคู่ไปกับพระที่นั่งสมุทร พิมานซึ่งเป็นส่วนของฝ่ายหน้า

๑๕. ห้องข้าหลวงพระภูษา

๑๖. เรือนพักพระสุจริตสุดา สนมเอก

๑๗.และ๒๐เรือนพักข้าราชบริพาร

๑๘.และ๑๙ คลังเก็บของ เป็นอาคารเก่าตั้งแต่แรก

๒๑. อาคารสำนักงาน 

ซึ่งอดีตเคยเป็นโรงครัว บริเวณรอบๆปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้ทำอาหาร ปัจจุบันก็จำลองปลูกให้ได้กลิ่นอายของอดีต


วังแห่งความรักและความหวัง

ร.6 และพระนางเจ้าสุวัทนา

ที่ว่ากันว่าเป็นวังแห่งความรักและความหวังนั้นพี่นิแกบอกว่า ร.๖ท่านไม่ทรงโปรดให้เรียกอย่างนั้นขอเล่าเหตุการณ์โดยคร่าวนะคะ


เดิมทีนั้นพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงมีพระครรภ์ พระองค์ทรงดีพระทัยยิ่ง ด้วยทรงมุ่งหวังว่าจะทรงมีพระปิโยรส แต่ความหวังนั้นก็เป็นอันต้องสิ้นสลาย เมื่อสมเด็จพระนาง เจ้าอินทรศักดิศจีไม่สามารถมีพระประสูติกาลได้ ยามนั้นพระองค์ทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย



ร.6 และพระนางเจ้าสุวัทนา

นั่นจึงเป็นที่มาแห่ง ด้วยทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสไว้สืบราชสันตติวงศ์ แต่ในที่สุดพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ก็มีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 แต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระประชวรหนัก เมื่อมีผู้นำพระราชธิดามาเข้าเฝ้า พระองค์ทรงทำได้เพียงยกเพียงวางพระหัตถ์ไว้บนพระเศียรพระราชกุมารีเท่านั้น แต่มิสามารถมีพระราชดำรัสได้เสียแล้ว จากนั้นก็ทรงพระรู้สึกพระองค์น้อยลง กระทั่งสวรรคตเมื่อ


เวลา 01.45 น.ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระราชนิเวศน์เพียง 2 ครั้ง


              หลังจากนั้นก็ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์เสด็จมาแปรพระราชฐานอีกเลย ทำอาคารพระราชนิเวศน์มฤคทายวันชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากขาดการบำรุงรักษา ประกอบกับตัวอาคารอยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ทำให้ไอเค็มเกิดปฏิกิริยากับอาคารจึงทำให้ชำรุดเสร็จกว่าปกติ 
              ปีพุทธศักราช 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มีพระบรมราชานุญาตให้กอง บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนใช้สถานที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นที่ทำการฝึกอบรมหลักสูตรการรบพิเศษ และโปรดเกล้าให้ดูแลรักษาบูรณะซ่อมแซมพระราชนิเวศน์มฤคทายวันด้วย โดยให้กองบัญชาการตระเวนชายแดนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมเองทั้งสิ้น ทั้งนี้จะต้องรักษารูปลักษณะของอาคารเดิมไว้

             ปัจจุบันพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอยู่ในความดูแลของกองบังคับการฝึกพิเศษกองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดน ซึ่งเรียกว่า " ค่ายพระรามหก "





วันที่ข้าพเจ้าไปมีหมู่กองทหารมาชม ละคร วิวาหสมุทร หลายกองทีเดียว



สถาปัตยกรรมของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นแบบไทยประยุกต์ (เรือนไทยผสมยุโรป) สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เป็นอาคารแบบเปิดโล่งสองชั้น ใต้ถุนสูง พื้นล่างเทคอนกรีต หลังคาหมู่พระที่นั่งเป็นทรงปั้นหยาแบบไทย มุงด้วยกระเบื้องว่าวสี่เหลี่ยม เพดานสูง บนเพดานระเบียงทางเดินที่ทอดยาวเชื่อมต่อถึงกันนั้น ฉลุเป็นช่องลมโดยตลอด ตัวอาคารที่ยกขึ้นสูงทำให้ลมพัดผ่านสะดวก เดินรับลมทะเลกันได้อย่างเพลิดเพลิน

ภาพบรรยากาศเก็บมาฝากค่ะ


ทางเดินไปศาลาลงสรง

บ่อน้ำแต่ดั้งเดิม

ทางเดินระเบียงที่เชื่อมต่อกันทุกหลัง






              สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้วนั้นคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม ขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่เข้าไปใช้งานและอยู่กับมันด้วยความรักและความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ หากผู้ใช้งานมีความสุขก็หมายความว่าสถาปัตยกรรมนั้นๆ ได้ตอบสนองความต้องการอย่างครอบคลุม ความงาม ประโยชน์ใช้สอย จนเกิดที่ว่างและเวลา มันสร้างความผูกพันธ์ สร้างภาพในความทรงจำของผู้ใช้งานยาวนาน





เวลาเปิดให้เข้าชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน:

วันจันทร์-วันศุกร์                           08.00 – 16.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์/วันหยุดราชการ    08.30 – 16.00 น.

ค่าเข้าชม:                             ผู้ใหญ่ 30 บาท/ เด็ก 15 บาท

(ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือถึงผู้กำกับการกองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี)
 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 032 508 039

แหล่งอ้างอิง




ขอขอบคุณ

พี่นิ แผนกวิชาการ ฝ่ายห้องสมุด
ผู้ร่วมเดินทาง นายชยภัทร ใจกลางบูรณะ
สถานที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รวมถึง สำนักงานที่เอื้อข้อมูล












ผู้จัดทำ
นางสาว วาสนา จินาการ รหัส 52020076

1 ความคิดเห็น: